วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ค้นหาความรู้ใหม่ในมิติของชุมชนไม้เรียง :

คุณประยงค์ รณรงค์ ประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง
กล่าวแนะนำชุมชนเล็กน้อยว่าชุมชนเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาควบคู่กับการพัฒนา

เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 ชุมชนพึ่งตนเองได้พอสมควร เมื่อเจอวาตภัยแหลมตะลุมพุกทำให้ป่ายางพาราพัง การช่วยเหลือของภาครัฐคือการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราอย่างเดียวเหมือน ๆ กัน แต่เดิมที่บริเวณชุมชนเป็นป่ายางได้ยางไม่มากแต่ได้ของกินของใช้ด้วย (พวกผลไม้ต่าง ๆ ) เรื่องเงินไม่ค่อยมีความหมาย แต่เมื่อรัฐให้ปลูกยางอย่างเดียว พืชชนิดอื่นให้ถอนออกหมดเพราะเป็นวัชพืช โดยเชื่อว่าจะทำให้รายได้สูงและจะรวยในที่สุด แต่ราคายางที่กรีดได้ราคากิโลละ 8 – 10 บาท ชุมชนอยู่ไม่รอด กรีดยางให้ได้เงินแล้วเอาเงินไปใช้ซื้อของ ไม่พอใช้จ่าย เกิดความสับสน เรื่องปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ปี พ.ศ. 2512 – 2522 10 ปีที่คนที่นี่ขึ้นไปแย่งวุลแฟรมที่ภูเขาศูนย์ละทิ้งสวนยางขึ้นไปหาแร่เพราะรายได้สูง ทำให้คนเหลิง 10 ปีคนยิงกันตายเพราะขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ พลเอกหาญ ลีลานนท์ จึงยึดภูเขาศูนย์ห้ามคนเข้าไปขุดแร่ คนไม้เรียงต้องอยู่ที่ไม้เรียง ส่วนคนอื่นต้องกลับภูมิลำเนาเดิม การขุดแร่ยุติลง ทำให้คนสับสนวุ่นวาย ปัญหาสังคม อาชญากรรมเต็มพื้นที่ แกนนำชุมชนเห็นว่าปัญหาความวุ่นวายส่งผลกระทบมากมีสาเหตุมาจากอาชีพหลักที่เคยทำสวนยางจะต้องทำให้มีความมั่นคง
ปี พ.ศ. 2524 – 2525 มีการพัฒนาอาชีพหลัก พ.ศ. 2527 ตัดสินใจตั้งโรงรมยาง จัดตั้งกลุ่มพัฒนาคุณภาพยาง ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นที่ 1 ของเอเชีย ส่งออกต่างประเทศได้ 100 % ทำให้แก้ปัญหาได้พอสมควร หลังจากนั้นมีปัญหาอื่น ๆ ทับถมเข้ามา จึงพบว่าปัญหายางเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาอย่างอื่นไม่ได้แก้ไปพร้อมกันจึงคุยกันหาแนวทางในการทำอย่างอื่นที่สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน สร้างการเรียนรู้ให้ชาวบ้านเรียนรู้วิถีชีวิต แก้ปัญหาของตนเองและร่วมกันแก้ปัญหาใหญ่ในชุมชน ในปี พ.ศ. 2534 – 2535
ปี พ.ศ. 2538 – 2539 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เน้นการพัฒนาคนแล้วคนจะมีความรู้ความสามารถ พัฒนาคนโดยผู้นำชุมชนให้ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ร่วมกันวิเคราะห์หมู่บ้านของตนเองแล้วกำหนดทิศทาง เอาข้อมูลมาบ่งชี้ทำให้รู้สิ่งแปลกใหม่ ระยะหลังใช้ความเป็นจริงของแต่ละหมู่บ้านให้ผู้นำมาเรียนรู้ร่วมกัน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจึงเป็นที่ที่ผู้นำของชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน ๆ ละ 5 คนได้มาพบปะเอาข้อมูลมากำหนดทิศทางลงไปสู่การปฏิบัติจริง ผลสรุปที่ได้อาจถูกบ้างผิดบ้างก็ทำการรวบรวมปรับปรุงแก้ไขตลอด เรื่องเดียวกันที่เคยทำไม่สำเร็จมาวิเคราะห์หาสาเหตุวิธีแก้ไขใหม่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้ได้รับความรู้ ป้องกันปัญหาในอนาคตได้ด้วย ในระยะหลังมีข้อมูลเพียงพอว่าจะใช้กิจกรรมอะไรแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และคิดต่อไปว่าสามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือไม่ ถูกทบทวนหลายขั้น ปรับปรุงหลายครั้งให้สอดคล้องกลายเป็น “แผนแม่บทชุมชน” (เป็นชื่อที่เรียกกันใหม่) เดิมใช้วิธีทำเฉย ๆ แผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือทำให้คนเรียนรู้ ทำให้เกิดแผนแม่บทชุมชนขึ้นเป็นแผนชีวิตเป็นแนวทางร่วมกันลงสู่การปฏิบัติ
ปี พ.ศ. 2540 ชุมชนใช้แผนแม่บทพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 การปฏิบัติตามแผนสอดคล้องกับความต้องการปรับเปลี่ยนแก้ไขตลอดเวลาไม่ตายตัว แก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้พอสมควร
ชุมชนไม้เรียงมีแผนแบ่งเป็น 5 ด้าน เช่น ด้านที่ 1 การเรียนรู้ของชุมชนทุกเรื่องต้องผ่านการเรียนรู้ให้ทุกคนเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ แล้วลงมือทำและขยายผลต่อไป หากเราทำให้ขั้นตอนสอดคล้องกับการเรียนรู้ ทำความเข้าใจจะทำให้คนลงไปเก็บข้อมูลอธิบายให้ทุกครอบครัวรู้รายละเอียด การเรียนรู้จะก้าวหน้าจนได้ข้อมูลกำหนดทิศทางการปฏิบัติ มีความเข้าใจร่วมกัน เกิดผลให้เกิดความร่วมมือ บางเรื่องมีจุดบกพร่องมีข้อจำกัดหลายเรื่อง การพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ขัดแย้งกันในเบื้องต้น ยังยึดแนวทางของตัวเอง การทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหาแต่ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้โดยใช้ความสามารถที่มี เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนพัฒนาตนเองไม่คอยความช่วยเหลือ เกิดความร่วมมือ ประสบการณ์ และวิชาการสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพต้องผนวกความรู้สมัยใหม่กับภูมิปัญญาเข้าด้วยกันจะเกิดผลดี
สรุปการเรียนรู้ คือ ทำให้คนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของตนเอง ปัจจุบันพยายามหาวิธีการ แนวคิดเรื่องที่ว่าเราจะเริ่มต้นที่ตนเองก่อนได้ยังไง ศูนย์เรียนรู้สะสมความรู้และประสบการณ์อันยาวนานและขยายผลเป็นความรู้ส่งออก และความรู้ที่จำเป็นต้องพัฒนา เช่น เทคโนโลยี เป็นความรู้นำเข้า ศูนย์เรียนรู้ทำทั้ง 2 ด้าน เรียนรู้ภายใน ถ่ายทอดประสบการณ์ไปภายนอกด้วย